ท่วงทำนองของแส้และโซ่ตรวน : การค้นหาความสุขในความเจ็บปวดผ่าน BDSM

ท่วงทำนองของแส้และโซ่ตรวน : การค้นหาความสุขในความเจ็บปวดผ่าน BDSM

.

‘BDSM’ หรือที่ย่อมาจากกลุ่มคำแสดงถึงรสนิยมจำเพาะของกลุ่มบุคคล ได้แก่  bondage (การพันธนาการ), discipline (วินัย), dominance (การครอบงำ), submission (การยอมจำนน), sadism (การใช้ความรุนแรงเพื่อความพึงพอใจ) และ masochism (การได้รับความพึงพอใจจากความเจ็บปวด) อาจเป็นประเด็นที่หลายคนรู้จัก แต่ก็รู้จักเพียงผิวเผินเท่านั้น หากผู้เขียนสามารถคิดวลีใดที่สวยงามราวรอยเสียดสีของเชือกฟางบนร่างยามถูกมัดแน่นมานิยามแล้วละก็ BDSM คงเป็นการติดปีกให้ผู้ที่หลงใหลความเร้าใจใต้การเป็นผู้เหนือกว่าและผู้จำนนได้ลองสัมผัส

.

ความสัมพันธ์อย่าง BDSM มักจะถูกพูดถึงในบริบทของกิจกรรมทางเพศที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนการใช้ความรุนแรงกับคู่นอนและคู่เพลย์อย่างสมยอม หรือการใช้เครื่องมือ และเทคนิคที่ดูเหมือนแปลกแยกจากเรื่องเพศแบบปกติที่เรารู้จักกันว่า ‘วานิลลา’ แต่จริง ๆ แล้ว BDSM เป็นมากกว่านั้น เพราะความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาของผู้ชื่นชอบความเจ็บปวดนี้เกี่ยวข้องกับหลักจิตวิทยา ไม่ใช่เพียงแค่กายเนื้อ แต่จิตใจที่โผบินยามไม้พายฟาดลงบนเนื้อต่างหากที่สำคัญ ดังนั้นแล้ว BDSM จึงไม่ใช่แค่เรื่องของความเจ็บปวดทางกาย แต่คือการที่เรามีผู้ที่สามารถเชื่อใจและวางใจยามลงแส้บนเนื้อ หรือมีผู้ที่ยินยอมให้เรากระทำรุนแรงอันอยู่บนพื้นฐานของความรักด้วย

.

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่นอกวงการอาจไม่ค่อยเข้าใจนักว่าเหตุใดความเจ็บปวดยามแส้หนังหรือไม้พายกระทบกาย หรือเมื่อยามเทียนไขหยดลงบนเนื้อจนสะดุ้งสั่นจึงสามารถสร้างความรู้สึกดีได้ แต่สำหรับผู้ที่มีรสนิยมเช่นนี้แล้ว การได้ถูกผูกมัดอาจเป็นดั่งการได้ติดปีกให้โผบิน สิ่งที่ต่างจากการทารุณกรรมเพียงเส้นบางคั่นแต่กลับห่างกันแสนไกลนี้ คือสิ่งที่เราผู้อ่านควรรับรู้ไว้ ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ ‘ความยินยอม’ และ ‘ความเข้าใจ’

.

ใน BDSM นั้น การสื่อสารถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดก็ว่าได้ ทั้งสองฝ่ายต้องมีความเข้าใจ และยินยอมในขอบเขตของกันและกัน ดังนั้น ‘consent’ หรือ ‘การยินยอม’ จึงเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์นี้ ผู้มีส่วนร่วมจะต้องคุยกันล่วงหน้าเกี่ยวกับขอบเขต กฎเกณฑ์ และสัญญาณที่ใช้เพื่อหยุดกิจกรรมทันทีโดยไม่มีข้อแม้ นอกจากนี้ การสื่อสารระหว่างคู่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เช่น การใช้ ‘safe words’ ซึ่งหมายถึงประโยคหรือวลีที่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง ‘submissive’ และ ‘dominant’ กำหนดขึ้นอย่างชัดเจน โดยจะใช้เมื่อต้องการหยุดการเพลย์ เมื่อใช้ safe words แล้ว จะต้องหยุดกิจกรรมและออกจากบทบาทสมมติทันที ซึ่งการกระทำข้างต้นนี้จะช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อกัน

.

อีกหนึ่งแง่มุมที่หลายคนมองข้ามคือ BDSM มีความเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนอำนาจ ซึ่งมักจะไม่ใช่การควบคุมแบบสัมบูรณ์ ผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง ‘dominant’ หรือ ‘master’ มักจะรับผิดชอบในการดูแลผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง ‘submissive’  เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจและปลอดภัยในขณะที่ยอมรับการควบคุมจากฝ่ายตรงข้าม การสร้างความสมดุลทางอำนาจนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ BDSM มีความลึกซึ้งและเต็มไปด้วยความหมาย 

.

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์เชิง BDSM ไม่ได้มีเพียงแต่ในด้านที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์เท่านั้น BDSM นอกเตียงนอนก็เป็นอะไรที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มผู้ชื่นชอบด้วยเช่นกัน เช่น age play ซึ่งเป็นการสวมบทบาทสมมติที่มีเรื่องอายุของ submissive และ dominant มาเกี่ยวข้อง หรือการแสดงถึงบทบาทในที่สาธารณะอย่างการสวมปลอกคอ ทั้งนี้อาจปรับเปลี่ยนการเพลย์ออกไปได้หลายแบบขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละบุคคล 

.

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้จะเป็นปี 2567 แล้ว แต่ BDSM ในไทยก็ยังถูกเข้าใจอย่างผิด ๆ เนื่องจากสื่อหล่อหลอมให้คนเข้าใจว่า BDSM เป็น 'เซ็กส์ซาดิส' 'โรคจิต' และเป็น 'เรื่องทางเพศที่ไม่ตรงตามขนบ' โดยตัดหัวใจหลักสำคัญอย่าง 'ความยินยอม' ออกไป กระทั่งมีคำกล่าวโดยรวมว่าเป็น 'กามวิปริต' ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบ และใช้ตัดสินพฤติกรรมทางเพศที่แตกต่างไปจากขนบธรรมเนียม การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ BDSM และรสนิยมที่ไม่ตรงขนบทำให้เกิดการตีตราขึ้น ทั้งที่ BDSM ยึดถือการยินยอม และการสื่อสารอย่างชัดเจนเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ใช่ภาพของชายที่ชื่นชอบโซ่แส้กุญแจมือ ขืนใจคู่นอนหญิงให้กลายเป็นทาสกามสวาทอย่างในละครหลังข่าว 

.

แม้ในประเทศไทย BDSM ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง หรืออาจมีมุมมองเชิงลบจากการเผยแพร่ผ่านสื่อผลิตซ้ำ  แต่ความพยายามในการเผยแพร่ และการให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะเคล้ารสชาติแปลกใหม่นี้ คือก้าวสำคัญในการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ให้เป็นมากกว่าแค่คู่รักและเตียงนอน เช่น อาจเป็นการสร้างสีสันในวันพิเศษ หากผสมผสานจินตนาการ ความรัก และความเคารพเข้าด้วยกัน ทางผู้เขียนหวังเพียงว่า ความสัมพันธ์จะไม่ถูกจำกัดด้วยขนบธรรมเนียมใด และจะไม่มีใครถูกผู้อื่นกำหนดว่าเราควรใช้ชีวิต หรือมีความสุขได้จากสิ่งใด ในโลกกว้างใหญ่ที่มีความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ตัวเราเองคือผู้กำหนดรูปแบบความต้องการได้อย่างอิสระ และอย่าให้คำกล่าวหาว่า ‘วิปริต’ มาลิขิตชีวิตรักของผู้อ่าน

.

เนื้อหา : ลีนา

พิสูจน์อักษร : พทธมณ สันทนานุการ และ แสน

ภาพ : อนันตญา เรืองเดช