นิยาม ‘หญิง’ ใครแน่กำหนด? : เมื่อ Feminism ถูกจำกัดให้เป็นแค่ ‘หญิงทำงาน’
.
"เป็นเฟมินิสต์ต้องทำงานนอกบ้านเท่านั้น?"
ประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน เมื่อแนวคิดเฟมินิสม์ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยผู้หญิงจากการถูกจำกัดกรอบกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างกรอบใหม่ที่บีบบังคับให้ ‘ความก้าวหน้าของผู้หญิง’ ต้องหมายถึงการทำงานนอกบ้านหรือการเป็นอิสระทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แล้วผู้หญิงที่เลือกเป็นแม่บ้านเต็มตัวหรือทุ่มเทให้กับครอบครัวล่ะ? ทำไมพวกเธอจึงมักถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่ยังอยู่ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่?
.
หัวใจของ Feminism (สตรีนิยม) แท้จริงแล้วคือ ‘สิทธิและอิสรภาพของผู้หญิงในการกำหนดชีวิตตนเอง’ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทำงานนอกบ้านหรืออยู่บ้านเลี้ยงลูก การที่ผู้หญิงสามารถเลือกเส้นทางชีวิตของตนเองโดยไม่ถูกกดขี่หรือดูแคลน นั่นแหละคือสิ่งที่เฟมินิสต์ต่อสู้มาโดยตลอด
.
แต่ในยุคปัจจุบัน มีแนวคิดแบบ ‘Career Feminism’ (เฟมินิสม์สายทำงาน) ที่เชื่อว่าผู้หญิงต้องมีอาชีพนอกบ้านและมีอิสระทางเศรษฐกิจเพื่อจะได้หลุดพ้นจากการครอบงำของผู้ชาย แนวคิดนี้มีพื้นฐานจากอดีตที่ผู้หญิงเคยถูกกดขี่ให้เป็นเพียง ‘ภรรยาและแม่’ โดยไม่มีทางเลือกอื่น แต่ในปัจจุบัน เมื่อโครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป ผู้หญิงมีสิทธิเลือกชีวิตของตนเองมากขึ้น จึงเกิดคำถามว่า "ถ้าผู้หญิงเลือกเป็นแม่บ้านเองล่ะ? นั่นหมายความว่าเธอไม่ใช่เฟมินิสต์หรือ?"
.
แม้ว่าการเป็นแม่บ้านจะเป็นสิ่งที่ผู้หญิงบางคนเลือกด้วยความสมัครใจ แต่พวกเธอมักถูกสังคม มองว่า ‘ยังติดอยู่ในระบบชายเป็นใหญ่’ หรือ ‘ไม่ได้ปลดแอกตนเอง’ ซึ่งเป็นการเหมารวมที่ลดทอนคุณค่าของงานบ้านและการเลี้ยงลูก ในความเป็นจริงแล้ว เฟมินิสต์ต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเลือกชีวิตที่ต้องการ ไม่ใช่บังคับให้ทุกคนต้องมีอาชีพและออกไปทำงาน
.
สิ่งที่น่าขันคือ เมื่อสังคมชายเป็นใหญ่บังคับให้ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้าน มันคือการกดขี่ แต่เมื่อแนวคิดเฟมินิสม์บางส่วนหันมาบังคับให้ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านและดูถูกคนที่เลือกเป็นแม่บ้าน มันก็คือโซ่ตรวนแบบใหม่เพียงเปลี่ยนมือคนถือกุญแจเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างจากการกดขี่รูปแบบเดิม แล้วแบบนี้อิสระที่แท้จริงจะอยู่ตรงไหน?
.
งานบ้านก็มีคุณค่า ไม่จำเป็นต้องหาเงินถึงจะมีอำนาจ
.
อีกหนึ่งแนวคิดที่ฝังรากลึกในสังคมปัจจุบันคือ ‘งานที่ไม่มีรายได้ = ไม่มีคุณค่า’ จึงทำให้การทำงานบ้านและการเลี้ยงลูกถูกมองข้าม ในขณะที่อาชีพอื่นได้รับการยอมรับในฐานะ ‘ความสำเร็จ’ แท้จริงแล้ว งานบ้านและการเลี้ยงลูกไม่ใช่เพียง ‘หน้าที่ของผู้หญิง’ แต่คือรากฐานของสังคม ถ้าไม่มีใครดูแลบ้านและครอบครัว สังคมก็ไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้ แล้วเหตุใดเราจึงต้องมองว่างานเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่เสมอไป? สิ่งสำคัญไม่ใช่ผู้หญิงต้องทำอะไร แต่คือพวกเธอมีสิทธิเลือกทำสิ่งนั้นด้วยตนเองหรือไม่ต่างหาก และยิ่งไปกว่านั้น เหตุใดเราต้องพิสูจน์ความเข้มแข็งด้วยการปฏิเสธความเป็นหญิงในแบบที่อ่อนโยน ละมุนละไม หรือรักในสิ่งที่เราทำ แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ได้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของ ‘ความเข้มแข็ง’ ในสายตาสังคม หรือแท้จริงแล้ว พลังของผู้หญิงอาจไม่ได้อยู่ที่การต่อสู้กับความเป็นชาย แต่คือการยืนหยัดในความเป็นตัวเอง โดยไม่ต้องให้ใครมากำหนดว่าแบบไหนถึงจะมีคุณค่า
.
สุดท้ายแล้ว Feminism ไม่ควรถูกตีกรอบว่าเป็นแค่เรื่องของผู้หญิงทำงานเท่านั้น เพราะหัวใจของแนวคิดนี้คือ ‘อิสระในการเลือก’ ไม่ใช่การกดดันให้ผู้หญิงทุกคนต้องเลือกทางเดียวกัน
.
ผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านและมีอิสระทางการเงินไม่ได้เหนือกว่าผู้หญิงที่เลือกเป็นแม่บ้าน และผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านก็ไม่ได้ด้อยค่ากว่าผู้หญิงที่ทำงานข้างนอก คุณค่าของผู้หญิงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเธอหาเงินหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเธอมีสิทธิเลือกทางเดินของตัวเองหรือเปล่า
.
ดังนั้น หากเราจะเคารพในหลักการของ Feminism อย่างแท้จริง เราต้องเคารพทุกการเลือกของผู้หญิง ไม่ว่าพวกเธอจะเลือกทำงานหรือเป็นแม่บ้าน เพราะเฟมินิสต์ไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิง ‘ต้อง’ เป็นอะไร แต่เพื่อให้ผู้หญิง ‘สามารถ’ เป็นอะไรก็ได้ที่เธอต้องการ
.
และไม่ควรมีใครมากำหนดนิยามของคำว่า ‘ผู้หญิง’ แทนเธอเอง
.
.
เขียน : ลีนา
พิสูจน์อักษร : ชยวรรธน์ เรืองช่วย และ ชนิดาภา (w.wv)
ภาพ : วอ.