ศิลปะเพื่อชนชั้น : จากวัลยาเดินทางมา สู่ความเป็นอื่นในพื้นที่ตนเอง
.
ลมหนาวบ่งฤดูใหม่ในเมืองฟ้าอมรนครเทวดา เป็นเวลาเท่าไร หรือเริ่มตั้งแต่ตอนไหน ไม่ชัดเจนมาก แต่หากพิจารณาก็จะพบว่า เมืองหลวงแห่งนี้ ในช่วงเวลานี้ของปี ล้วนมีนิทรรศการ งานศิลป์มากมายซ่อนอยู่ในหลายพื้นที่
.
ไม่ว่าจะงาน A-word ก็ดี B-word ก็ดี คนที่เคยไปร่วมมาน่าจะทราบดี ข้าพเจ้าก็ได้ไปเยี่ยมชมทุกครั้งที่มีโอกาส ผลงานศิลปะของศิลปินมากหน้าหลายตาตั้งโชว์เรียงราย ประดับประดาไปทั่วทั้งย่านหนึ่ง ๆ ในมหานครเทพสร้าง ให้ความรู้สึกจรรโลงใจและสบายตาแก่ผู้พบเห็น นอกจากนี้การใช้เวลาทอดน่องยาว ๆ พลางมีอะไรให้ชม ก็ยังทำให้รู้สึกดีอีกถมไป แต่แล้วช่วงเวลาเดียวกันในปีนี้ กลับมีบางอย่างผุดขึ้นมาในห้วงความคิดของข้าพเจ้า
.
กลายมาเป็นประเด็นคำถามสำคัญที่ต้องการคำตอบขนาดนั้นหรือไม่ก็ตอบไม่ได้—ชุมชนได้อะไรจากการมีอยู่ของงานเหล่านี้ ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือในระยะยาว นี่คือวิธีการหาผลประโยชน์จากพื้นที่ชุมชนหรือไม่ จุดประสงค์ที่แท้จริงของการสร้างงานศิลปะเหล่านี้และจัดแสดงไว้ในชุมชน คือต้องการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ หรือลักษณะเด่นของชุมชนหนึ่ง ๆ จริงหรือ?
.
นิทรรศการศิลปะหรืองานไฟต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าพูดถึงในแง่ของความคิดสร้างสรรค์หรือการทำให้พื้นที่หนึ่ง ๆ ดูสวยงามและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ งานเหล่านี้ก็ดูจะมีประโยชน์ไม่น้อย อีกทั้งศิลปินที่เพิ่งเข้ามาในวงการเองก็คงจะได้มีโอกาสและพื้นที่ในการจัดแสดงงานของตนด้วย เอ… ดูรวม ๆ ก็ไม่น่าจะมีอะไรไม่ดี
.
ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นที่ต้องการแถลงไข ข้าพเจ้าอยากชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจเรื่อง ‘gentrification’ กันสักเล็กน้อยก่อน นิยามของคำ ๆ นี้ หากยึดตามสื่อที่พบเห็นได้บ่อยครั้งและกินความได้ชัดเจน ข้าพเจ้าขอเลือกใช้ตามนิยามของ รศ. ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา ที่ให้คำแปลไว้ว่า gentrification ในพื้นที่ ๆ หนึ่งหมายถึง
.
“การทำให้เป็นย่านผู้ดี เพื่อชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในเมือง จากพื้นที่ที่คนที่สถานะดีกว่าเข้าไปใช้พื้นที่แทนชนชั้นล่างหรือคนชายขอบที่เคยใช้พื้นที่อยู่เดิม”
.
ดังนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่าศิลปะที่ได้รับการจุดประกายให้เราได้รับชมตามพื้นที่ต่าง ๆ หรือที่รังสรรค์ขึ้นมาแล้วพูดว่าทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชน แท้จริงแล้วสามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นงาน A-word ก็ดี หรืองาน B-word ก็ดี ผู้อ่านคงทราบข้อดีของงานเหล่านี้จากการโปรโมตมากมายสุดที่จะคณานับ ดังนั้นจึงจะไม่พูดถึง แต่ในบทความนี้ข้าพเจ้าตั้งใจจะชวนมาดูผลลัพธ์ประการหลังที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเสียมากกว่า
.
งานศิลปะที่เกิดขึ้นนี้มักใช้พื้นที่ชุมชนในการจัดแสดง แต่สาระสำคัญหรือแก่นของงานกลับไม่ได้ช่วยนำเสนอเรื่องราวของชุมชนบริเวณที่ไปจัดนัก ซ้ำร้ายคนที่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมจริง ๆ กลับไม่ใช่คนทุกกลุ่มจากทุกชนชั้นของสังคม ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของงานเหล่านี้ก็ยังคงเป็นกลุ่มชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นสูง ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีเวลาเหลือพอที่จะเสพสุนทรียศาสตร์เหล่านี้ได้ ในขณะที่กลุ่มคนระดับล่างหรือระดับรากหญ้าซึ่งมักเป็นคนในพื้นที่เหล่านั้นอาจไม่มีโอกาสแม้แต่ได้ลิ้มรสงานศิลป์เหล่านี้เลยด้วยซ้ำ
.
ความสัมพันธ์ระหว่างนิทรรศการศิลปะกับสภาพชุมชนที่เกิดขึ้นนี้ ในแง่หนึ่งมันไม่ได้ช่วยให้อัตลักษณ์ของชุมชนโดดเด่นขึ้นมา แต่เป็นประหนึ่งการที่คนมีอำนาจมากกว่าเข้าไปสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่พวกเขา เนื่องจากคนที่รังสรรค์งานเหล่านั้นไม่ใช่คนในพื้นที่จริง ซ้ำยังดูดกลืนพื้นที่ชุมชนเข้าไปสู่ระบบ gentrification ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพชัดขึ้นสำหรับนิสิตสามย่านซึ่งอาจเป็นกลุ่มผู้อ่านหลักของบทความฉบับนี้ การทำแบบนี้ก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่จุฬาฯ ขึ้นค่าเช่าที่ชุมชนบริเวณอุทยานร้อยปีทำให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นแต่เดิมต้องออกไปอยู่ที่อื่น เพื่อสร้างตัวสวนอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ กระนั้นก็ได้สร้างผลงานศิลปะไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรายังคงระลึกถึงพวกคุณเสมอ ถ้าระลึกถึงจริงทำไมถึงไล่เขาออกไปกันนะ?
.
ถนนทรงวาดและย่านตลาดน้อยเองก็เป็นพื้นที่ยอดนิยมในการจัดแสดงงานศิลปะมากมายและบ่อยครั้ง ไม่ใช่แค่เพียงนิทรรศการที่จัดปีละครั้งอย่างงาน A-word หรือ B-word แต่พื้นที่เหล่านี้ล้วนได้รับการตกแต่งประดับประดาตลอดทั้งปี เมื่อก่อนย่านตลาดน้อยเดิมเป็นเซียงกง ทำธุรกิจการค้าอะไหล่นานาชนิด ส่วนถนนทรงวาดก็เป็นย่านขายสินค้าทางการเกษตร ทุกวันนี้ทั้งสองย่านกลับถูกแปลงโฉมไปเป็นคาเฟ่หรือร้านอาหารที่ราคาของเมนูเริ่มต้นอยู่ที่ 100 บาท หากจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘gentrification’ ก็คงจะไม่ผิดเท่าใดนัก สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนอีกอย่างจากเรื่องนี้ก็คือ ศิลปะนั้นมีพลังเหลือล้นในการสร้างและทำลายมากกว่าที่ใครจะคาดถึง หากผู้อ่านยังคงไม่เห็นภาพ อาจจะต้องขอยืมวลีจากนิยายชื่อดังของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ว่า “ศิลปะรับใช้ชนชั้น” มาใช้ สำหรับหลายท่านคำนี้อาจฟังดูไม่เสนาะหู แต่ในขณะเดียวกันกลับกินความได้ครอบคลุมทีเดียวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หากลองสังเกตดี ๆ จะพบว่า คนที่สามารถเสพงานศิลปะได้คือคนชนชั้นไหนกันแน่
.
อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะมีคนอุทานออกมาว่า “เอ้า! ใครใคร่เสพก็เสพไปสิ จะมายุ่งกันทำไม” ที่พูดมาถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าก็เพียงต้องการตั้งคำถามสะท้อนเพื่อให้ผู้อ่านหลายท่านได้กลับไปคิดว่า
.
“งานนี้ช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนหรือมีประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างอย่างไร คนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ จากศิลปะเหล่านี้คือใคร อีกทั้งศิลปะที่ชูกันว่าดี ชูกันว่าโดดเด่นในพื้นที่ชุมชนนั้นได้ทำหน้าที่ของมันอย่างดีพอแล้วหรือยัง มันได้ฉายเรื่องราว ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ณ ที่นั้น ๆ หรือไม่ ดึก ๆ ดื่น ๆ ถ้าคนในพื้นที่อยากจะนอน มีเสียงกดชัตเตอร์หรือแสงแฟลชรัว ๆ เข้ามารบกวนที่ธรณีประตูบ้านของพวกเขาไหม มั่นใจใช่หรือเปล่าว่าคนแถวนั้นเขาเต็มใจและพอใจกับการจัดงานนี้ หรืออุปโลกน์เอาว่า นาน ๆ มีที แค่นี้คงทนได้ ตกลงแล้วคนเหล่านี้ ‘ยินยอม’ หรือ ‘ถูกบังคับ’ ให้ยอมรับสภาพนี้กันแน่?”
.
คำถามเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปริศนาชวนให้คิดกันต่อไปว่าในระยะยาวงานนี้จะสร้างผลเสียหรือผลดีให้คนในพื้นที่ได้มากกว่ากัน ถึงเวลานั้นก็อยากชวนมาถกกันอีกรอบ สวัสดี
.
อ้างอิง
¹ Bangkokdesignweek, ‘เทศกาล’ ช่วยขับเคลื่อนเมืองให้ดีขึ้นได้จริงหรือ?[ออนไลน์], 16 สิงหาคม 2566. แหล่งที่มา https://www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/content/90717
² บุญเลิศ วิเศษปรีชา, Gentrification คำนี้ที่ชื่นชมหรือรู้ทัน? คนรวยย้ายเข้า คนจนย้ายออก[ออนไลน์], 24 พฤษภาคม 2567. แหล่งที่มา https://decode.plus/20240507-gentrification-critics/
³ Carl Grodach, Nicole Foster, & James Murdoch III. (2014). Gentrification and the Artistic Dividend: The Role of the Arts in Neighborhood Change, 80(1), 21-35. https://www.tandfonline.com/.../01944363.2014.928584...
⁴ ศิลปวัฒนธรรม, กำเนิด “ถนนทรงวาด” ศูนย์กลางการค้า-เกษตรไทยยุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้[ออนไลน์], 10 กันยายน 2564. แหล่งที่มา https://www.silpa-mag.com/songwad-century/article_74363
.
เนื้อหา : สหายรูบี้
พิสูจน์อักษร : ปฐิมาพร ฮ้อศิริมานนท์ และ ศิริกัลยา
ภาพ : ปาณิ