หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ วรรณกรรมคลาสสิกว่าด้วยเรื่องอำนาจ ‘จริง’ และอำนาจ ‘ลวง’ ของรัฐ
.
*มีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังสือ
.
ถ้าจะพูดถึงหนังสือเกี่ยวกับการเมืองสักเล่ม ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ คงเป็นชื่อที่ติดโผอยู่ลำดับแรก ๆ ในใจของนักอ่านหลายคน ถึงแม้วรรณกรรมเรื่องดังกล่าวจะเผชิญอุปสรรคมากมายด้วยเนื้อหาที่ ‘ขัดใจ’ ผู้มีอำนาจทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย แต่วรรณกรรมเรื่องนี้ก็ยังคงตั้งตระหง่านดังเขาสูงเด่นที่ไม่สะทกสะท้านแม้จะเผชิญกับความพยายามในการทำลายหลายต่อหลายครั้ง และไม่ว่าจะหยิบมาอ่านสักกี่รอบ เนื้อเรื่องก็ยังคงทันยุคทันสมัย จนสามารถกล่าวได้ว่า หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เป็นวรรณกรรมที่ฉีกกรอบเวลาและสถานที่อย่างแท้จริง
.
หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปียจากปลายปากกาของ ‘จอร์จ ออร์เวลล์’ นักเขียนผู้เคยฝากผลงานเสียดสีการเมืองก้องโลกอย่าง การเมืองเรื่องสัตว์ (Animal Farm) และเช่นเดียวกัน ออร์เวลล์ยังคงไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของเขาในการสอดแทรกเนื้อหาทางการเมืองที่แสนจะแสบสันลงใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่
.
ออร์เวลล์นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมโอชันเนียผ่านเรื่องราวชีวิตประจำวันของประชาชนธรรมดาทั่วไปอย่าง ‘วินสตัน สมิธ’ เพื่อทำให้ผู้อ่านได้เห็นสภาพสังคมในอนาคตที่ออร์เวลล์อาศัยอยู่ ซึ่งมีลักษณะล้อไปกับคำขวัญของพรรคในโอชันเนียอย่าง “สงครามคือสันติภาพ เสรีภาพคือความเป็นทาส อวิชชาคือพลัง” กล่าวคือเป็นสังคมที่รัฐมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ และประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเด็ดขาด
.
อย่างไรก็ตามคงเกิดคำถามตามมาว่าสภาพสังคมในหนึ่งเก้าแปดสี่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นไปได้หรือที่ประชาชนทุกคนจะถูกควบคุมจากรัฐทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว?
.
ออร์เวลล์ตอบคำถามนี้ผ่านตัวบทโดยการแสดงให้เห็นถึงอำนาจสองรูปแบบที่รัฐนำมาใช้ควบคุมประชาชน ซึ่งผู้เขียนจะขอนิยามต่อไปว่าเป็นอำนาจ ‘จริง’ กับอำนาจ ‘ลวง’
.
สำหรับอำนาจในแบบแรก ออร์เวลล์แสดงอำนาจนี้ผ่าน ‘Big Brother’ หรือ ‘พี่เบิ้ม’ และเทคโนโลยีสมมติอย่างจอโทรภาพ
.
ผู้นำสูงสุดที่คอยจับตามองประชาชนในทุกฝีก้าวอย่าง Big Brother อยู่ในทุกที่ที่ประชาชนมองเห็น ตั้งแต่ริมถนนไปจนถึงริมทางเดินอะพาร์ตเมนต์ ดังที่วินสตันได้อธิบายว่า
.
“โปสเตอร์ที่มีใบหน้ามหึมาจะจับตามองจากผนัง นี่เป็นหนึ่งในรูปภาพที่จงใจประดิษฐ์เพื่อให้ดวงตานั้นมองตามคุณทุกย่างก้าว ใต้รูปภาพปรากฏข้อความ ‘พี่เบิ้มกำลังจับตาดูคุณ’ ” (ออร์เวลล์, 2563: 47)
.
แน่นอนว่า Big Brother เป็นอุปมา (metaphor) ของอำนาจ ‘จริง’ ของรัฐที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้และรู้สึกหวาดระแวง นอกจากนี้จอโทรภาพที่ติดตั้งอยู่ในห้องพักของทุกคนก็เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่รัฐใช้จับผิดพฤติกรรมของประชาชนเพื่อไม่ให้ประพฤติตัวออกนอกลู่นอกทาง อาจกล่าวได้ว่าออร์เวลล์กำลังแสดงถึงอำนาจของ ‘สังคมแห่งการจับจ้อง’ และศักยภาพที่จะทำให้ประชาชนยอมศิโรราบต่อรัฐผ่านอำนาจดังกล่าว
.
นอกจากอำนาจที่แสดงให้เห็นแบบโต้ง ๆ แล้ว นับว่าออร์เวลล์เป็นอัจฉริยะ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเขาเป็นผู้มาก่อนกาล เนื่องจากเขาสามารถมองเห็นอำนาจ ‘ลวง’ ในระดับขั้นที่ฝังลึกลงไปผ่านภาษาและความคิด และในบางครั้งอำนาจแบบที่สองนี้ก็น่ากลัวยิ่งกว่าอำนาจที่เห็นได้อย่างชัดเจนเสียอีก ออร์เวลล์แสดงให้เห็นการควบคุมไปถึงระดับความคิดและอุดมการณ์ของประชาชน อำนาจในรูปแบบที่ซ่อนอยู่คือการสร้างภาษาใหม่ที่เรียกว่าภาษา ‘Newspeak’ และระบบการคิดที่เรียกว่า ‘Double Thinking’ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ล้วนส่งผลให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐได้น้อยลง
.
เมื่อพลิกหน้ากระดาษซึมซับเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ไปเรื่อย ๆ ผู้อ่านจะพบว่าสภาพสังคมใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เป็นระบบอำนาจเพื่ออำนาจ กล่าวคือไม่มีผู้ใดได้รับผลประโยชน์สูงสุดในระบบอำนาจนี้ เพียงแต่ทำให้ระบอบการเมืองหรือสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐ’ ยังคงดำเนินต่อไปได้ หากกล่าวให้ง่ายกว่านั้นคือ รัฐกำลังใช้อำนาจเพื่อลดหรือกำจัดความเป็นปัจเจกบุคคลของมนุษย์ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้มนุษย์กลายเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งที่หมุนให้ระบบสังคมดำเนินต่อไปได้ในรูปแบบเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือการลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน
.
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจคิดว่าเนื้อหาในหนังสือบรรยาย ‘เกินจริง’ ไปมากและสภาพสังคมนั้นคงไม่มีอยู่จริงในปัจจุบัน ความคิดของท่านคงถูกเพียงครึ่งเดียว จริงที่ว่าในสังคมคงจะไม่มีอำนาจอย่าง Big Brother ที่คอยเฝ้ามองเราอย่างโต้ง ๆ แต่ในบางครั้งอำนาจเหล่านั้นเฝ้าติดตามเราอย่างแนบเนียนโดยไม่รู้ตัว และสิ่งที่เราคิดว่ากำลังใช้ประโยชน์จากมัน ในความเป็นจริงแล้ว อาจจะเป็นสิ่งเดียวกันกับเครื่องมือที่ทำให้เราศิโรราบต่อระบบการเมืองหรือระบบใด ๆ ที่มีอำนาจเหนือมวลชน หากจะนำแนวคิดของออร์เวลล์มาเทียบเคียงกับสังคมในปัจจุบันแล้ว จอโทรภาพก็คงไม่ต่างอะไรไปจากสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ทางหนึ่งเราสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือเพื่อแสดงการต่อต้านรัฐได้ แต่ในทางกลับกัน รัฐก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันในการสอดส่องตรวจตราประชาชน มากไปกว่านั้นอาจใช้เพื่อการปลุกระดมหรือปลูกฝังแนวคิดบางอย่างทั้งที่เราอาจทำไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว
จากการวิเคราะห์พอสังเขป ผู้อ่านคงพอมองเห็นว่าเหตุใด หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ถึงเป็นวรรณกรรมที่อยู่ยงคงกระพัน และยืนหยัดได้ท่ามกลางกระแสพายุที่หวังจะพัดพาวรรณกรรมเรื่องนี้ให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ผู้เขียนหวังเพียงว่าเมื่ออ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ ท่านคงจะพอมองเห็นความเชื่อมโยงของวรรณกรรมกับการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กันอย่างไม่สามารถแยกจากกันได้ ดังที่ออร์เวลล์ (1963) กล่าวไว้ว่า “เมื่อผมไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง หนังสือที่ผมเขียนจะไร้ชีวิต”
.
รายการอ้างอิง
ออร์เวลล์, เจ. (2563). หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ [1984] (รัศมี เผ่าเหลืองทองและอำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สมมติ. (ต้นฉบับพิมพ์ปี ค.ศ. 1949)
.
เนื้อหา : ณิชาภา หิมารัตน์
พิสูจน์อักษร : ชามา และ กาย
ภาพ : ติณณา อัศวเรืองชัย