หวนรำลึกการเมืองเดือนตุลา ผ่านมิติความรักและชีวิตใน ‘October Sonata’
.
*มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์
.
“เขาเป็นดั่งดวงตะวัน ส่องแสงมาสู่กลางใจฉัน
ฉันเป็นดั่งดวงจันทร์ จึงทอแสงนวลชวนฝันได้ในยามค่ำคืน
ทุกรุ่งอรุณ ฉันรั้งตัวอยู่ที่ปลายขอบฟ้า เหลือบมองเขาส่องแสงสว่างไปสู่มวลชน”
.
ย่างเข้าเดือนตุลาคม หวนให้รำลึกถึงความขื่นขมจากเหตุการณ์การเมืองในประเทศไทย แม้จะผ่านมาหลายทศวรรษ แต่ความรู้สึก ความเจ็บปวด รวมถึงอุดมการณ์ที่ (ครั้งหนึ่งเคย) ผลิบาน ได้ย้อนกลับมากระทบความทรงจำ สำหรับบางคนอาจบางเบา สำหรับบางคนอาจติดตรึง และสำหรับบางคน… อาจลืมเลือนเพราะถูกทำให้เลือนลืม ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่รื้อฟื้นประวัติศาสตร์หน้านี้ขึ้นมา คือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความรักและชีวิตของตัวละคร ซึ่งเป็นประชาชนตัวเล็ก ๆ ในเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยอย่างเรื่อง ‘October Sonata’
.
ภาพยนตร์ ‘October Sonata’ หรือ ‘รักที่รอคอย’ เป็นผลงานการกำกับของสมเกียรติ วิทุรานิช ออกฉายเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เนื้อเรื่องเล่าชีวิตของ ‘แสงจันทร์’ แรงงานโรงงานทอผ้าผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งบังเอิญได้เจอกับ ‘รวี’ นักศึกษาหนุ่ม ในวันที่เธอไปร่วมงานศพของพระเอกดังแห่งยุคอย่าง ‘มิตร ชัยบัญชา’ ระหว่างค้างแรมด้วยกัน รวีได้อ่านหนังสือเรื่อง ‘สงครามชีวิต’ ของศรีบูรพาให้แสงจันทร์ฟัง ทำให้เธอเริ่มหันมาสนใจการอ่านหนังสือ และเฝ้าคอยที่จะได้พบเจอกับรวีอีกครั้งในวันที่ 8 ตุลาคม ตามที่ทั้งสองได้สัญญากันไว้
.
แสงจันทร์ตัดสินใจไปเรียนหนังสือภาคค่ำที่โรงเรียน ที่นั่นเธอได้พบกับ ‘ลิ้ม’ ชาวจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งรกรากและหวังจะตั้งตัวในเมืองไทย ลิ้มหลงรักแสงจันทร์ตั้งแต่แรกเห็น แต่แสงจันทร์รู้หัวใจตัวเองดีว่าเธอยังคงรักและรอพบรวีเสมอมา แม้ว่าจังหวะเวลาจะแยกชีวิตของทั้งสองให้คลาดกันอย่างไร้ความปรานีก็ตาม ในตอนจบของเรื่อง แสงจันทร์ได้เป็นนักเขียน พร้อมกับได้พบความจริงอันน่าเศร้าว่า ที่เธอต้องคลาดกับรวีเรื่อยมา เป็นเพราะเขาไปร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึงเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ท้ายที่สุด รวีก็เสียชีวิตลงเพราะพิษไข้หลังออกจากป่าได้ไม่นาน
.
หากมองอย่างผิวเผิน ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวที่บังเอิญพบกันในช่วงเวลาหนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว October Sonata ได้หยิบเอาเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองช่วงปีพ.ศ. 2513 ถึงหลัง 2519 โดยเฉพาะเหตุการณ์ในเดือนตุลาคมมาเป็นฉากหลังในการดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนิสิตนักศึกษาหลังจากที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้เงาเผด็จการมาอย่างยาวนาน เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 หรือการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ฯลฯ โดยผู้ชมจะสังเกตเห็นได้ว่า ชะตาชีวิตของตัวละครในเรื่องล้วนมีส่วนผูกโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ทั้งสิ้น เห็นได้ชัดจากการ ‘พบพาน’ ‘พลัดพราก’ และ ‘จากลา’ ของแสงจันทร์และรวี ซึ่งตั้งอยู่บนจุดพลิกผันของการเมืองในสมัยนั้นตลอดเวลา
.
แรกเริ่มเดิมที แสงจันทร์เป็นเพียงแรงงานทอผ้าที่ไม่รู้หนังสือ จนกระทั่งได้พบกับรวี เธอจึงเริ่มสนใจเรียนเขียนอ่าน และการอ่านนี้เองที่มีส่วนช่วยในการรับเอาความรู้ แนวคิด รวมถึงอุดมการณ์ต่าง ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เธอเริ่มตั้งคำถาม วิพากษ์สังคม เข้าใจกรอบคิดเรื่องความเท่าเทียม และตระหนักได้ว่าทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน สิ่งเหล่านี้เองได้พลิกชีวิตของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งให้เปลี่ยนไปตลอดกาล อย่างที่เธอเองก็คงคาดไม่ถึงเช่นกัน ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การที่แสงจันทร์ได้พบกับรวี เปรียบเสมือนกับการได้พบ ‘แสงสว่าง’ ที่ส่องนำชีวิตอันมืดมนไปสู่วิถีทางแห่งการตระหนักรู้ ทั้งยังส่องทางให้แสงจันทร์และมวลชนคนอื่น ๆ ก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงตามเมล็ดพันธุ์แห่งอุดมการณ์ที่ค่อย ๆ ผลิบานขึ้นในหัวใจ
.
ทว่าหลังจากนั้น สถานการณ์ทางการเมืองกลับทำให้จังหวะแห่งชีวิตของทั้งสองไม่ตรงกัน เธอพลัดพรากจากรวีไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนในที่สุด แม้ว่ารวีจะออกจากป่ามาแล้ว เขากลับต้องลาจากเธอไปด้วยเพราะพ่ายแพ้แก่พิษไข้ อาจกล่าวได้ว่า ‘แสงสว่าง’ ที่ส่องนำเธอและมวลชนได้ดับวูบลง ราวกับว่าอุดมการณ์ที่เคยงอกเงยขึ้นมาได้มลายหายไป และราวกับว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์นั้นจบลงด้วยปราชัยไม่ต่างจากโศกนาฏกรรมในชีวิตรักของแสงจันทร์และรวี
.
อย่างไรก็ตาม แม้แสงสว่างจะมอดดับ เช่นเดียวกับรวีลาลับแสงจันทร์ กระนั้น แสงสว่างที่ครั้งหนึ่งเคยได้พบ ได้เรียนรู้ ได้สัมผัส อาจไม่ได้หนีหายไปไหน หากแต่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจิตใจ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยลุกโชนอย่างแรงกล้าด้วยแสงแห่งอุดมการณ์
.
ด้วยทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า October Sonata เป็นภาพยนตร์ที่พาผู้ชมหวนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ ผ่านการหยิบยกเหตุการณ์ที่อาจ (ถูกทำให้) ลืมเลือนกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง โดยการเล่าขนานไปกับความรักและชีวิตของตัวละคร ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์การเมืองเดือนตุลาคม นัยหนึ่ง ความรักและชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกขาดจากการเมืองได้ และความรักเอง ก็เป็นดั่งเครื่องมือในการนำพาอุดมการณ์และสำนึกทางสังคมการเมืองมาสู่ผู้ชม
.
บางที การย้อนกลับไปมองอดีต อาจทำให้เราเข้าใจปัจจุบัน เช่นเดียวกับการย้อนมองความรักและชีวิตของตัวละคร ที่อาจทำให้เราเข้าใจมิติทางการเมืองมากขึ้นด้วยนั่นเอง
.
อ้างอิง
กรณินทร์ ขันตี, (หนัง) รักที่รอคอย I 14 ปี October Sonata [ออนไลน์], 17 กุมภาพันธ์ 2566. แหล่งที่มา https://www.fapot.or.th/main/information/article2/view/59
สมเกียรติ์ วิทุรานิช. (ผู้กำกับ). (2552). October Sonata [ภาพยนตร์]. เอ็นจีอาร์ ; เอ็ม.พิคเจอร์
.
เนื้อหา: เมลิน
พิสูจน์อักษร: จิรัชญา และ ปุณณิศา
ภาพ: นิธินาถ สุววัชรานนท์