‘อันกามการุณย์’ Non fa niente : ความเป็นแม่แลความเป็นอื่น

‘อันกามการุณย์’ Non fa niente : ความเป็นแม่แลความเป็นอื่น

*มีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังสือ*

.

“ลูกรัก หากพ่อของลูกทิ้งรอยคอดไว้ที่นิ้วนางข้างซ้ายของแม่ ส่วนลูกทิ้งรอยแตกไว้บนหน้าท้องของแม่ เขาคนนั้นก็ทิ้งรอยสลักอันถาวรไว้เช่นกัน”

.

ร่องรอยความเจ็บปวดทั้งกายและใจถูกสลักเป็นคำโปรยบนปกหลังนิยายเรื่อง อันกามการุณย์ หนังสือเควียร์ที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนเควียร์ นวนิยายกระแสสำนึกที่เล่าเรื่องราวในทรงจำผ่านความคิดในหัวของผู้ชายข้ามเพศอย่าง 'ลลนา' ซึ่งเป็นความในใจที่ต้องการจะสื่อให้ 'ลดา' ผู้เป็นลูกสาวได้รับรู้ถึงอดีตที่ผันผ่านและบทบาทตัวตนของความเป็นแม่ ภรรยา ลูกสาว จากหญิงเป็นชาย จนกลายมาเป็นชู้ เขาเป็นเพียงแม่คนหนึ่ง เป็นแม่ที่อยากเป็นชาย เป็นชายที่หลงลืมศีลธรรมไปชั่วขณะ ลลนาอาจไม่ใช่ตัวละครสมบูรณ์พร้อม ไม่ใช่คนดี แต่เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีความสับสนระคนซับซ้อนในตัวเอง และเป็นมนุษย์ที่มีการกระทำอันยากจะตัดสินในหลายครั้ง

.

ความเป็นแม่สำหรับหลายคนแล้ว คงจะนึกถึงแม่ที่หมายถึงเพศหญิงผู้มีสรรพนามแทนตัวว่า 'เธอ' และ 'ฉัน'

.

แต่หากสรรพนามแทนตัวแม่เป็นคำว่า 'เขา' และ 'ผม' ล่ะ เราจะยังคิดว่าคนคนนั้นเป็นแม่อยู่หรือเปล่า?

.

ความเป็นอื่น : สังคม ครอบครัว ตัวเอง

.

“แม่เป็นผู้หญิงในวันวานนั้นแม่เป็นได้ แต่วันนี้แม่เปลี่ยนไปแล้ว มดลูกที่ยืดขยาย เต้านมที่บวมคัดตึง ความเป็นหญิงที่ถูกสูบลมเข้าจนเต่งทำให้แม่มองเห็นมันอย่างแจ่มชัด และเมื่อฉันเห็น ฉันรู้ ฉันรู้ว่านั่นไม่ใช่ฉันแล้ว”

.

เมื่อลลนาตระหนักรู้ว่าร่างที่ห่อหุ้มตัวเขาไม่ใช่ร่างอันแท้จริง และความเป็นผู้หญิงไม่ใช่ตัวตนของเขาอีกต่อไป เพราะตัวตนเขาคือผู้ชาย ถึงกระนั้นลลนาก็เป็นเควียร์ที่ยืนหยัดจะเป็นเควียร์ ไม่สับสนและไหวหวั่น แม้อาจยากที่จะไม่สนสายตาหรือความคิดของคนอื่น ทว่าลลนาก็ยังเคารพและยืนหยัด หนักแน่นในสิ่งที่ตนเองต้องการและสิ่งที่ตนเองเป็น เหมือนดังที่ลลนาเลือกที่จะลาออกจากคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่พ่อของเขาคาดหวังให้เรียน แต่เมื่อลลนารู้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เขาก็พร้อมที่จะทิ้งสิ่งนั้นแล้วก้าวออกมา แม้อาจต้องเป็นลูกสาวที่ทำให้ครอบครัวผิดหวัง

.

“ตอนนั้นแม่อยู่ปีห้า คุณตาของลูกเห็นแม่อยู่ในชุดกาวน์สีขาว ส่วนแม่เห็นมันเป็นผ้าห่อศพ แม่เป็นศพ บวมอืดด้วยความทุกข์ แต่ยังมีลมหายใจ”

.

“ค่ะ หรือ ครับ คนแปลกหน้าทำให้แม่ฉุกคิด ฉันควรพูดอย่างไร”

.

เมื่อต้องตอบคำถามคนแปลกหน้า ลลนาไม่แน่ใจเลยว่าควรใช้คำลงท้าย ‘ค่ะ’ หรือ ‘ครับ’ ลลนารู้ว่าตนเองลอกล่อนจากความเป็นหญิงไปนานแล้ว แต่ความคิดของสังคมรอบข้างก็ยังมีอิทธิพลต่อเขา เพราะการไม่ถูกยอมรับ และโดนผลักไสให้เป็นคนนอก เป็นสิ่งที่เขายากจะรับมือ หากพูด ‘ครับ’ คนอื่นจะมองเขาเป็นตัวประหลาด เป็นแม่ที่ผิดเพศ เป็นแม่ที่ไม่สมควรที่จะเป็นแม่ ความกลัวจึงกัดกินใจของเขาเสมอเมื่อต้องแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริง

.

คำลงท้าย ‘ค่ะ’ จึงเปรียบเสมือนเครื่องยืนยันตัวตนให้คนในสังคมไม่มองตัวลลนาผิดแปลกไป เพราะจะไม่มีใครยอมรับแม่ที่พูดครับเหมือนผู้ชาย 

.

สังคมทำให้ลลนารู้สึกถึงความเป็นอื่น 

.

“วี่แววความสุขในดวงตาเขาหายไปแล้ว แม่ไม่เห็นมัน แม่เห็นแต่ความสงสัย ความฉงนที่กลายเป็นหนึ่งในลักษณะดวงตาเขายามที่มีภรรยาอย่างแม่ยืนอยู่ตรงหน้า”

.

สามีของลลนา ‘ณัฐ’ รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยของภรรยา ไม่ว่าจะเป็นผมซอยสั้น หรือเสื้อแบบเดียวกันแต่ขนาดเล็กกว่า กระทั่งความเป็นหญิงที่ลลนาเคยเป็นในอดีตเริ่มเลือนหาย และแล้วก็หายไปตลอดกาล 

.

“ตัดผมมาหรือ สวยดีนะ สวยแบบเท่ ๆ ดี”

“คิ้วแม่เลิกขึ้นสูง แม่ไม่อยากยิ้ม แต่เพราะณัฐยิ้ม แม่จึงต้องยิ้ม”

.

การเปลี่ยนแปลงของภรรยาทำให้เขายากจะทำใจยอมรับ ตัวตนของภรรยาที่เป็นอยู่ตอนนี้ เป็นตัวตนที่เขาไม่ปรารถนาจะให้ภรรยาเป็น แม้ณัฐจะไม่เคยเอ่ยถามหรือกล่าวอะไร แต่สายตาซึ่งฉายแววฉงนและทดท้อยามที่เขามองลลนา พร้อมหวังอยู่ลึก ๆ ว่าภรรยาคนเดิมจะกลับมา มันทิ่มแทงลลนาให้เจ็บปวดและหน่วงหนัก คำว่า ‘สวย’ ที่สามีชม ทำให้เขายิ่งปวดร้าว เพราะเขารู้ว่าสามีชมผู้หญิงที่ชื่อลลนาผู้เป็นภรรยาสุดที่รัก ไม่ใช่ผู้ชายที่เขาเป็น 

ความกลัวของลลนาทำให้เขาไม่กล้าบอกณัฐ แม้จะเป็นคนที่ผูกพันกันมากที่สุด แต่เพราะเป็นคนที่ผูกพันกันมากที่สุด ลลนาจึงกลัวสามีรับไม่ไหว ความเป็นชายของเขาอาจหนักหนาเกินไปสำหรับผู้ชายอย่างณัฐ 

.

“แม่คิดว่าเขาจะถามว่าตั้งแต่เมื่อไร แม่คิดคำตอบไว้ว่าอาจจะตั้งแต่เกิด แม่จะขอโทษเขาอีกครั้ง ขอโทษที่ไม่ได้บอกในวันที่ขอเขาแต่งงาน ไม่ได้ทัดทานเมื่อเขาบอกว่าเราน่าจะมีลูกกัน นั่นเพราะแม่ก็อยากมี แม่อยากมีทั้งเขาและลูก นั่นไม่เกี่ยวกับสิ่งที่แม่เป็น ฉันเป็นผู้หญิงที่รักเขา เป็นผู้ชายฉันก็ยังรัก”

.

สุดท้ายแล้วเมื่อณัฐรู้ว่าลลนาอยากผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ เขาก็ไม่อาจรับได้ และขอร้องให้ลลนายังเป็นภรรยาของเขาต่อ เขายังหวังว่าจะมีเศษเสี้ยวของผู้หญิงที่ชื่อลลนาอยู่ในตัวภรรยา และเศษเสี้ยวนั้นจะยังไม่จางหาย ทว่าคำขอร้องของณัฐยิ่งทำให้ลลนารู้สึกถึงความเป็นอื่น

.

“เหมือนแม่เป็นคนนอกที่กำลังยืนมองหล่อนคนนั้น—คนที่เป็นภรรยาของณัฐ ด้วยใจสังเวช ลูกรัก แม่เป็นคนแปลกหน้า เป็นคนนอกในบ้านของตัวเอง”

.

สามีที่เคยเป็น ‘บ้าน’ ให้ลลนาเมื่อครั้งที่เสียแม่ไป เป็นที่พักพิง เป็นความสบายใจ ที่โอบรับตัวเขาไว้ในวันที่เขาเปราะบางร้าวรานที่สุด ทว่าตอนนี้ ‘บ้าน’ หลังนี้ ได้พังลงไปแล้ว

.

สิ่งที่โหยหา : การถูกยอมรับในตัวตนอันเปราะบาง

.

ในบ่ายวันหนึ่งขณะสายฝนโหมกระหน่ำ ณ ถนนทรงวาด ลลนาและลูกได้รับการช่วยเหลือจากชายนิรนามผู้หนึ่งให้เข้าไปหลบฝนในบ้าน จนเผลอไผลไปกับความการุณย์ของชายผู้หยิบยื่นความอุ่นสบายให้ เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ถลำลึกจนยากจะถอย ความการุณย์จากชายแปลกหน้าผู้ไม่ถามไถ่ หรือฉงนใจในตัวตน อีกทั้งไม่ตัดสิน เสมือนว่าเขาพร้อมที่จะโอบรับตัวตนของลลนาไว้ การถูกยอมรับในความเป็นอื่นเป็นสิ่งที่ลลนาไม่เคยได้รับมาก่อน สายตาที่ชายผู้นี้มองเขา ไม่ใช่สายตาในแบบเดียวกับที่คนอื่นมองมา แต่มองในสิ่งที่ลลนาเป็น เขามีเซ็กซ์กับลลนาในฐานะผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง ดังชื่อ ‘อันกามการุณย์’ ลลนาจึงยิ่งยึดติดชายการุณย์ผู้นี้ เพราะหวังว่าเขาจะเป็น ‘บ้าน’ หลังใหม่ เป็นบ้านที่พร้อมจะโอบรับทุกสิ่งทุกอย่างของเขาเอาไว้ 

.

เพราะลลนาก็เป็นมนุษย์ที่อยากถูกยอมรับเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่น 

.

แต่สุดท้ายแล้ว  ‘บ้าน’ หลังใหม่ของลลนา จะเป็นบ้านของเขาจริง ๆ หรือเปล่า? และความการุณย์ที่ชายผู้นั้นมอบให้ จะเป็นความการุณย์จริง ๆ หรือ?

.

ถึงกระนั้นนิยายเรื่องนี้ก็ไม่ได้โน้มน้าวให้เราเข้าข้างพฤติกรรมของลลนา เพราะท้ายที่สุดแล้วลลนาก็ได้รับผลจากการกระทำของตนเอง เพียงแต่ต้องการให้เข้าใจว่าความเป็นอื่นและการอยากได้รับการยอมรับนั้นเจ็บปวดมากขนาดไหน อีกทั้งนิยายเรื่องนี้ยังให้ผู้อ่านเกิดการตั้งคำถามกับตนเองขึ้นมาว่า ถ้าหากเราเป็นลลนาจะทำอย่างไร ถ้าหากเราเป็นณัฐซึ่งเป็นผู้ชายที่เติบโตมากับแนวคิดเพศทวิลักษณ์ จะยอมรับตัวตนของภรรยาได้หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ทุกตัวละครในเรื่องต่างก็เจ็บปวดมากน้อยไม่แพ้กัน เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์พร้อม

.

สายสัมพันธ์แม่-ลูก : ลดความเป็นอื่นให้จางลง

.

“ความเป็นแม่คือสิ่งสากลนะลูก แม่ก็เพิ่งมารู้ในวันที่ได้เป็นแม่ของลูกนี่ละ ไม่ว่าเห็นเด็กที่ไหน คนไหน แม่จะนึกถึงลูกเสมอ”              

ความเป็นแม่เป็นสิ่งที่ลลนารู้สึกและสัมผัสได้ตั้งแต่วันที่ให้กำเนิด ‘ลดา’ ก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและแข็งแกร่งกว่าสิ่งใดในโลก และสายสัมพันธ์นี้ไม่อาจผุพังหรือถูกริบคืนไปอย่างง่ายดายดังเช่นของชิ้นอื่น ๆ ความสากลนี้ที่แม้ว่าจะเป็น ณ ขณะที่ตัวของลลนาเปลี่ยนจากหญิงเป็นชาย ทั้งในทางเพศสภาพและสรรพนามที่เอ่ยเรียก เขาก็ยังรู้สึกอยู่เสมอว่าตนคือแม่ 

.

แม้ในเนื้อเรื่องจะบรรยายถึงความเจ็บปวดและทรมานของการคลอดลูก ถึงกระนั้นลลนาก็ยังอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างของลดาและเขาหลอมรวมกันเหมือนอย่างเก่า ไม่ว่าจะน้ำหนักของลูกในตัวแม่ เลือดของลูกที่ปนเปกับแม่ แม้กระทั่งสายสะดือที่เชื่อมต่อกัน แม้จะเจ็บปวด แต่ถ้าความเจ็บปวดนั้นทำให้เราแม่ลูกยังเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ลลนาก็เต็มใจที่ทนรับความเจ็บปวดนั้นอีกหน ลลนาหวงแหนสายสัมพันธ์นี้ ไม่ใช่หวงเพราะจะถูกริบไป แต่หวงเพราะเป็นความรู้สึกที่ไม่ว่าสายสัมพันธ์ไหนก็ให้ไม่ได้ เป็นสายสัมพันธ์ที่มีเพียงแม่และลูกเท่านั้นที่จะเข้าใจ 

.

และลลนารู้ว่าลดาจะโอบรับแม่ผู้ไม่สมบูรณ์พร้อมคนนี้เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครหรือบ้านหลังไหนก็อาจทำไม่ได้เท่า

.

“แม่เชื่อว่าลูกมีสีสันของตนเองมาตั้งแต่คู้ตัวอยู่ในท้องแม่ สีอะไรแม่ไม่รู้ แม่มองไม่เห็น แต่แม่สัมผัสได้ มันเป็นสีที่วิเศษ เป็นสีที่สะอาดในแบบที่ไม่ทำให้สีของคนอื่นเปรอะ ใจแม่ไม่เคยเปื้อนเมื่ออยู่กับลูก”

.

“ด้วยความเคยชิน แม่ขึ้นบันไดเลื่อนไปถึงชั้นเสื้อผ้าสตรี ลูกเห็นจึงพูดออกมาว่า คุณแม่ไม่ชอบ แม่เลิกคิ้ว หันหน้ามองลูกที่กอดคอแม่ไว้ ไม่ชอบกระโปรง ลูกพูดต่อ แม่ยิ้ม พยักหน้า ใช่ค่ะ แล้วจึงจูบแก้มลูกไปหนึ่งที ลูกมีสีสันแบบที่ผู้ใหญ่อย่างแม่ไม่อาจมีได้”

.

ในเวลาที่ลลนาไม่ได้อยู่ในสถานะหรือบทบาทใด รู้สึกเปลี่ยวดายอ้างว้างจากการเป็นคนนอกในสถานที่ซึ่งไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งได้ หรือเป็นอื่นในสังคม สายใยนี้จึงโอบกอดยึดโยงผู้เป็นแม่ไว้ให้รู้สึกมีตัวตน ทุกครั้งที่ความเปราะบางร้าวรานผุดขึ้นในตัวลลนาในวันที่รอบตัวของเขามีแต่สีขาว และเขาคือรอยเปื้อนซึ่งไม่อาจขัดออก สีอันแสนมักคุ้นของลูกจะผลักความเป็นอื่นให้หายไปและโอบล้อมแม่ไว้ให้มั่นคง 

.

“เวลานี้ที่แม่เปลี่ยวเหงา แม่โดดเดี่ยว แม่ไม่ใช่ลูกของใคร ไม่ได้ให้กำเนิดใคร ไม่อาจแต่งงานหรือร่วมรักกับใคร ด้วยเหตุนี้ แม่ถึงได้เฝ้าแต่นึกถึงลูก สายใยจากลูกทำให้แม่มีตัวตน”

.

สำหรับผู้อ่านแล้ว หากแม่ไม่ใช่ผู้หญิง คนคนนั้นจะยังเป็นแม่อยู่หรือเปล่า?

แต่สำหรับลลนาแล้ว เขาจะยังเป็นแม่เสมอ เพราะแม่ไม่ใช่เพศสภาพ แต่เป็นผู้ให้กำเนิด

.

อ้างอิง

ลาดิด. (2567). อันกามการุณย์ Non fa niente. เพชรบุรี: ลาดิดและมูนสเคป.

.

Dusida W, อันกามการุณย์ Non fa niente: แม่ที่ไม่ใช่เพศ หากแต่เป็นผู้ให้กำเนิด [ออนไลน์], 20 มีนาคม 2567. แหล่งที่มา

https://www.thenoizemag.com/.../non-fa-niente-ladys-book.../

.

เนื้อหา : ฬาฬิน 

พิสูจน์อักษร :  วรวลัญช์ และ แสน

ภาพ : ธันยา วิทยาภัค