แวะเยี่ยมหน้าต่างโต๊ะโตะจัง เรียนรู้เพื่อค้นหาความงดงามของชีวิต
.
*มีการเปิดเผยเนื้อหาในหนังสือและภาพยนตร์
.
“โต๊ะโตะจัง ความจริงหนูเป็นเด็กดีรู้ไหม”
.
หากพูดถึงวรรณกรรมเยาวชนจากญี่ปุ่นที่ครองใจนักอ่านหลายคนเป็นอย่างดีคงจะหนีไม่พ้นเรื่อง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ หนังสือเล่มโปรดตลอดกาลของใครหลายคน หนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่คอยปลอบประโลมหัวใจยามห่อเหี่ยวและเรียกรอยยิ้มผ่านความน่ารัก ความสดใส และความซุกซนของโต๊ะโตะจัง
.
‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ คือบันทึกความทรงจำวัยเด็กของนักเขียนและนักแสดงชื่อดังอย่าง ‘คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ’ และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยด้วยสำนวนที่สละสลวยโดยผุสดี นาวาวิจิต ทั้งยังได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย
.
โต๊ะโตะจังเป็นเด็กหญิงช่างสงสัยที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพียงเพราะโต๊ะโตะจังชอบเปิดปิดฝาโต๊ะเรียนเป็นประจำ บางครั้งเธอก็ออกไปยืนอยู่ตรงหน้าต่างเพื่อคุยเล่นเสียงดังกับคณะดนตรี ‘จินด็องยะ’ ที่เดินผ่านทางระหว่างคาบเรียน พฤติกรรมโฉ่งฉ่างของเธอสร้างความรำคาญใจให้ทั้งครูและเด็กคนอื่น ๆ ในห้องเรียน จนทำให้ต้องถูกไล่ออก และย้ายไปอยู่โรงเรียนแห่งใหม่ ‘โรงเรียนโทโมเอ’
.
อักษรสาราฯ จะพาทุกท่านไปตกผลึกชีวิตครั้งใหม่ของโต๊ะโตะจังที่สะท้อนภาพความเป็นจริง และเรียนรู้เพื่อค้นหาความงดงามของชีวิตผ่านเรื่องราวของเด็กหญิงช่างสงสัยอย่างโต๊ะโตะจังในรั้วโรงเรียนโทโมเอหลังจากนี้
.
โรงเรียนโทโมเอ ต้นแบบของการศึกษาที่ดี
.
ท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผู้ใหญ่ในหลายประเทศกำลังต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจข้ามฝั่งโลกกันอยู่นั้น ขณะเดียวกันโต๊ะโตะจังก็กำลังพยายามเรียนรู้ และปรับตัวกับชีวิตชั้นประถมหนึ่งในโรงเรียนแห่งใหม่ที่ไม่เหมือนใครด้วยเช่นกัน
.
ที่ว่า ‘ไม่เหมือนใคร’ นั่นก็เพราะห้องเรียนของโรงเรียนโทโมเอไม่ใช่อาคารเรียนธรรมดาทั่วไป แต่เป็นตู้รถไฟเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วนำกลับมาประยุกต์ใช้เป็นห้องเรียน และรายล้อมด้วยทุ่งดอกไม้หลากสีพร้อมกับรั้วไม้สีเขียวชอุ่ม ขณะเดียวกันโรงเรียนโทโมเอก็มีแผนการสอนเฉพาะตัว ไม่ได้ใช้วิธีการเรียนรู้แบบ ‘ท่องจำจากตำราเรียน’ แต่ปรับเปลี่ยนกลวิธีให้เด็กทุกคน ‘เลือก’ ที่จะเรียนวิชาอะไรก็ได้ตามที่ใจปรารถนาโดยที่เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกัน
.
อิสระของการ ‘เลือก’ เรียนวิชาอะไรก็ได้ของนักเรียนโรงเรียนโทโมเอคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กทุกคนกระตือรือร้นและมีสมาธิอย่างเต็มที่ อีกทั้งเด็กทุกคนจะได้รับรู้อำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเองโดยมีคุณครูเป็นผู้ชี้นำทาง เพราะเมื่อวันใดที่เด็กเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เด็ก ๆ จะรักตัวเอง และพึ่งพาตัวเองได้ตามแบบฉบับและวิถีทางของแต่ละคน
.
ครูใหญ่โคบายาชิ ครูผู้รักและเชื่อมั่นในตัวเด็ก ๆ
.
สำหรับโต๊ะโตะจังในตอนนั้นแล้วการย้ายเข้ามาในโรงเรียนใหม่คือ การเปลี่ยนสถานที่เรียนเพียงเท่านั้นเอง โต๊ะโตะจังยังเด็กเกินไปที่จะรับรู้ความจริงว่าทุกคนที่โรงเรียนเก่าคิดอย่างไรกับเธอ แต่เธอก็สามารถรับรู้ผ่านสายตาอันเย็นชาของคนเหล่านั้นที่พยายามจะสื่อสารว่า ‘เธอนั้นแปลกและแตกต่าง’ เพราะเธอเป็นเด็กช่างเพ้อฝันและขี้สงสัยมากเกินไปจนไม่สนใจคนรอบข้าง แต่สำหรับโรงเรียนโทโมเอแล้ว โต๊ะโตะจังกลับไม่รู้สึกแตกต่างแม้แต่น้อย
.
วันแรกที่โต๊ะโตะจังมาที่โรงเรียนโทโมเอ ครูใหญ่โคบายาชิให้โต๊ะโตะจังเล่าเรื่องอะไรก็ได้ที่เธออยากเล่า เธอเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ ครูใหญ่ก็หัวเราะชอบใจและพยักหน้ารับ ทำให้เธอดีใจจนพูดไม่หยุดตลอด 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กที่มีจินตนาการสูง และความคิดไม่ได้ปะติดปะต่อหรือเชื่อมโยงกัน แน่นอนว่าย่อมมีผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจและปิดกั้นความคิดจนเกิดการตีตราว่าเด็กเหล่านั้นเป็นเด็กประหลาด แต่ครูใหญ่โคบายาชิกลับเปิดใจรับฟังเรื่องราวอย่างตั้งใจและสนุกสนานไปพร้อมกับเธอ นั่นทำให้โต๊ะโตะจังรู้สึกสบายใจและคิดว่า “ถ้าเป็นคนนี้แล้วละก็ อยู่ด้วยนาน ๆ ก็ได้”
.
หนึ่งในคำสอนของครูใหญ่โคบายาชิที่หลายคนจดจำได้เป็นอย่างดีคือ สอนให้เด็ก ๆ ไม่เป็นคนเลือกกิน ในช่วงพักเที่ยงบริเวณห้องโถงใหญ่ ครูโคบายาชิได้อธิบายสิ่งที่อยู่ในข้าวกล่องของแต่ละคน ซึ่งต้องประกอบไปด้วยอาหารจากภูเขาและอาหารจากทะเล คำแรกนิยามอาหารจำพวกผักและเนื้อสัตว์ ส่วนคำหลังเป็นคำแทนของอาหารประเภทปลาและของแห้ง กุศโลบายของครูใหญ่โคบายาชิช่วยทำให้เด็กทุกคนสนุกสนานไปกับสีสันของอาหารที่หลากหลาย จนลืมไปว่าตัวเองไม่ชอบกินอะไร และไม่เปรียบเทียบว่าข้าวกล่องของใครดีกว่าของใคร
.
นอกจากนี้ในงานแข่งขันกีฬาสีประจำปี เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นคือ ไม่ว่าในการแข่งขันอะไรก็ตาม ‘ทาคาฮาชิ’ เด็กชายที่รูปร่างเตี้ยและแขนสั้นจะสามารถเอาชนะทุกการแข่งขันไปได้อย่างง่ายดาย แม้เด็ก ๆ คนอื่นในโรงเรียนรวมถึงโต๊ะโตะจังเองจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเอาชนะทาคาฮาชิให้ได้ แต่สุดท้ายทาคาฮาชิก็จะเดินออกมารับรางวัลที่หนึ่งอย่างภาคภูมิใจทุกครั้ง แท้ที่จริงแล้วครูใหญ่โคบายาชิต้องการจัดกิจกรรมกีฬาสี ขึ้นเพื่อให้เด็กตัวเตี้ยแคระอย่างทาคาฮาชิได้ภาคภูมิใจและไม่นึกถึงปมด้อยของตนเอง
.
การเรียนการสอนของครูใหญ่โคบายาชิทำให้เด็ก ๆ ในโรงเรียนที่มีความแตกต่างกันทั้งฐานะ ภูมิหลัง รวมไปจนถึงรูปลักษณ์ภายนอก สามารถเป็นเพื่อนกันและเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เห็นได้จากตอนที่โต๊ะโตะจังชวน ‘ยาสึอากิจัง’ ไปปีนต้นไม้ที่โรงเรียน ทว่าเขาป่วยเป็นโปลิโอทำให้ไม่เคยปีนต้นไม้เลยสักครั้ง นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ทำให้ยาสึอากิจังได้สัมผัสกับทิวทัศน์ที่มองเห็นจากบนต้นไม้ และยาสึอากิจังกับโต๊ะโตะจังก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกันในที่สุดจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตเขา
.
ครูใหญ่โคบายาชิไม่เพียงแต่สอนให้โต๊ะโตะจังกับทุกคนเป็นเพื่อนกันได้ แต่ยังสอนให้โต๊ะโตะจังรู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำเสมอ ครั้งหนึ่งโต๊ะโตะจังเผลอทำกระเป๋าสตางค์แสนรักตกลงไปในโถส้วม เธอจึงพยายามเอากระบวยมาตักหากระเป๋าสตางค์จนมีสิ่งปฏิกูลกองเต็มพื้น แต่เมื่อครูใหญ่มาพบเข้าก็ไม่ได้ตำหนิเธอแม้แต่น้อย เพียงแค่บอกว่า “ทำเสร็จแล้วก็เก็บทุกอย่างเข้าที่ด้วยนะ”
.
ครูใหญ่โคบายาชิเป็นต้นแบบของผู้ใหญ่ที่รับฟัง พยายามเข้าใจนักเรียนทุกคน และไม่ตัดสินใครด้วยสายตาที่จ้องจับผิดหรือใช้กฎเกณฑ์ของสังคมมาตัดสินเอกลักษณ์ของเด็กแต่ละคน หากเราตั้งใจรับฟังเด็กทุกคนอย่างเปิดใจและทำความรู้จักพวกเขามากขึ้น เราก็จะมองเห็นความงดงามของเด็กแต่ละคน และพูดเช่นเดียวกับที่ครูใหญ่โคบายาชิพูดกับโต๊ะโตะจังว่า “โต๊ะโตะจัง ความจริงหนูเป็นเด็กดีรู้ไหม”
.
ความไร้เดียงสาที่สอนผู้ใหญ่ได้อย่างแนบเนียน
.
เรื่องราวของโต๊ะโตะจังไม่ได้เล่าเพียงมุมมองผู้ใหญ่ที่สอนเด็กด้วยความอ่อนโยนและความอบอุ่นเพียงเท่านั้น แต่เด็กช่างสงสัยอย่างโต๊ะโตะจังและผองเพื่อนเองยังสอนผู้ใหญ่โดยที่ไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน
.
ในตอนที่โต๊ะโตะจังกลับมาเล่าให้คุณแม่ฟังว่า มีเพื่อนชาวเกาหลีคนหนึ่งพูดใส่หน้าเธอว่า “ไอ้คนเกาหลี” ด้วยน้ำเสียงและท่าทีเกลียดชัง แม้โต๊ะโตะจังจะไม่เข้าใจความหมายของคำนั้น แต่ก็อยากจะเป็นเพื่อนกับเขาให้ได้อยู่ดี และด้วยเพราะแม่ของเธอฉุกคิดขึ้นได้ว่าเพื่อนคนนี้เคยถูกด่าทอด้วยมุมมองการแบ่งแยกเชื้อชาติมาก่อน จึงอยากให้โต๊ะโตะจังทำดีและเป็นเพื่อนกับเด็กคนนี้เอาไว้
.
‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ไปพร้อมกันโดยไม่จำกัดความคิดเอาไว้เพียงแค่ว่า ผู้ใหญ่เท่านั้นที่สามารถสอนเด็กได้ ในทางตรงข้าม การเรียนรู้ไปพร้อมกันย่อมสร้างคุณค่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าการปล่อยให้อีกฝ่ายเรียนรู้เพียงฝ่ายเดียว
.
ดังนั้นแล้วไม่ว่าเราจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือมีทัศนคติต่อโลกใบนี้ที่แตกต่างกันมากเพียงใด เราทุกคนต่างล้วนเป็น ‘ครู’ และ ‘ลูกศิษย์’ ของคนในสังคมในเวลาเดียวกัน และเมื่อใดที่เราเปิดใจกว้างและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง เราย่อมจะมองเห็นความงดงามของชีวิต ทั้งของตนเองและของทุกคนในสังคมอย่างแจ่มชัด
.
“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในโลก คือ มีตาแต่ไม่รู้จักมองสิ่งสวยงาม มีหูแต่ไม่ฟังเพลง มีหัวใจแต่ไม่รู้ความจริง ไร้ซึ่งความรู้สึก และไม่กระตือรือร้น” —ครูใหญ่โคบายาชิ
.
¹จินด็องยะ หมายถึง คณะนักดนตรีรับจ้างเล่นดนตรี พร้อมถือป้ายโฆษณาสินค้าหรือป้ายประกาศเปิดร้านค้า เดินไปตามถนน พอกหน้าขาว แต่งหน้า และสวมกิโมโนสีฉูดฉาด ปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นแล้ว
.
²เมื่อญี่ปุ่นยึดครองเกาหลี ชาวเกาหลีจำนวนมากถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานในญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจึงถือว่าคนเกาหลีเป็นพลเมืองชั้นสอง
.
อ้างอิง
คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ, โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง, แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิต (โรงพิมพ์สุภา ธนบุรี : ผีเสื้อญี่ปุ่น, 2558)
.
เนื้อหา : กณิศ เรืองขำ
พิสูจน์อักษร : พิณมาดา และ กรณิศ
ภาพ : ปุณยวีร์ วัฒนาธร