Godzilla Minus One : บาดแผลจากยุคสงครามและการตั้งคำถามต่อมนุษยชาติ

Godzilla Minus One : บาดแผลจากยุคสงครามและการตั้งคำถามต่อมนุษยชาติ

.

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม ปีโชวะที่ 20 ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจโจมตีครั้งสำคัญ ด้วยการปล่อยระเบิดปรมาณูลูกแรกชื่อ Little Boy ลงสู่เมืองฮิโรชิมา ตามด้วย Fat Man ที่เมืองนางาซากิ การโจมตีนี้คร่าชีวิตผู้คนนับแสนในชั่วพริบตา เปลี่ยนเมืองที่เคยมีชีวิตชีวาให้กลายเป็นเถ้าถ่าน และทิ้งบาดแผลอันบาดลึกในใจคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแผลที่ไม่อาจเยียวยาได้ ทั้งในด้านสังคม จิตใจ และจิตวิญญาณ เป็นความเจ็บปวดที่ฝังรากลึก แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านไปเกือบศตวรรษ แต่ร่องรอยแห่งความสูญเสียนี้ยังคงหลอกหลอนจิตใจของผู้คน และเป็นเครื่องเตือนใจถึงหายนะที่เกิดขึ้นจากพลังอำนาจแห่งสงคราม

.

ภาพยนตร์เรื่อง ‘Godzilla Minus One’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่หนังสัตว์ประหลาด แต่ยังบอกเล่าบาดแผลทางจิตใจที่ฝังลึกในใจคนญี่ปุ่นจากยุคสงคราม โดยเฉพาะเหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณูในฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทิ้งร่องรอยลึกของความทุกข์ทรมาน ความกลัว และความสิ้นหวัง การที่ Godzilla เกิดขึ้นจากพลังงานนิวเคลียร์สะท้อนให้เห็นถึงบาดแผลนี้ และเป็นการเตือนให้เห็นพลังทำลายล้างที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยความหยิ่งทะนงในองค์ความรู้ด้านสงคราม

.

Godzilla ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1954 ผ่านภาพยนตร์ของสตูดิโอ Toho ในช่วงที่ญี่ปุ่นยังไม่ลืมความเจ็บปวดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวละครนี้เป็นสัญลักษณ์ของพลังธรรมชาติที่ถูกกระตุ้นและปลดปล่อยออกมาด้วยการกระทำของมนุษย์ Godzilla ในภาพยนตร์ต้นฉบับเชื่อมโยงโดยตรงกับเหตุการณ์การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ กัมมันตภาพรังสีปลุกสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ที่เคยปกครองโลกในอดีตขึ้นมา และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของผลกระทบจากนิวเคลียร์จากการปล่อยระเบิดในสงครามโลก ซึ่งไม่ได้เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนหรือชีวิตผู้คนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบาดแผลทางจิตใจที่คนญี่ปุ่นต้องเผชิญด้วย ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติที่ถูกทำลายและรบกวนจากมนุษย์ Godzilla แสดงถึงพลังที่ออกมาทวงคืนความสมดุล การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์นั้นทำให้เกิดความไม่เสถียรในธรรมชาติ การเกิดขึ้นของ Godzilla เป็นเหมือนการเตือนใจว่า มนุษย์นั้นไม่ใช่ผู้ควบคุมธรรมชาติอย่างแท้จริง และเมื่อธรรมชาติถูกแทรกแซง ก็สามารถกลับมาเป็นผู้ทำลายล้างได้อย่างที่มนุษย์คาดไม่ถึง

.

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับการแสดงโดย ‘มายาซากิ ทาคาชิ’ ผู้กำกับผู้หลงใหลในประเด็นญี่ปุ่นหลังสงครามโลก เขามีผลงานมากมาย เช่น ผลงานซีรีส์ ‘Always’ ในปี ค.ศ. 2023 ซึ่งเล่าเรื่องราวของญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 ถึงทศวรรษ 1960 หรือซีรีส์ ‘Eien no zero’ (The Eternal Zero) ผลงานจากปี ค.ศ. 2013 ที่เล่าเรื่องราวของฝูงบิน Kamikaze และในภาพยนตร์เรื่อง ‘Godzilla Minus One’ นี้ เขาได้บอกเล่าเกี่ยวกับภาวะหลังสงครามของประเทศ บ้านเมืองพังทลาย เศรษฐกิจซบเซา และหัวใจบอบช้ำไร้ทางออก ทั้งยังต้องพบเจอสิ่งมีชีวิตปริศนาจากท้องทะเลที่จะทำลายทุกความหวัง ในตอนแรกภาพยนตร์ถูกจำกัดการฉายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ในภายหลังก็ได้เผยแพร่ในต่างประเทศในที่สุด

.

Godzilla Minus One เป็นภาพยนตร์ที่พาเราดำดิ่งสู่ความลึกซึ้งทางปรัชญา ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวของตัวเอกอย่าง ‘ชิกิชิมะ’ อดีตทหารกองรบพิเศษ Kamikaze ผู้รอดชีวิตจากการโจมตีครั้งแรกของสัตว์ประหลาดยักษ์ เขาได้รับเลี้ยงหญิงสาวและเด็กกำพร้า เริ่มต้นชีวิตใหม่จากซากปรักหักพัง ต่อสู้กับความทรมานจากการสูญเสียที่มาพร้อมกับอาการ post-traumatic stress disorder (PTSD) อีกทั้งยังต้องรับมือกับสัตว์ประหลาดยักษ์ปริศนาที่เข้าโจมตีญี่ปุ่นในยามที่ยังมืดแปดด้าน

.

Godzilla ไม่ได้เป็นเพียงสัตว์ประหลาด หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของบาดแผลแห่งชาติที่ยังไม่เคยลบเลือนไปจากจิตใจคนญี่ปุ่น การปรากฏตัวของ Godzilla เป็นเหมือนกับการย้อนกลับไปพบเจอกับอดีตอันเจ็บปวด ราวกับผีในจิตสำนึกของสังคมญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญหน้ากับบาดแผลของสงครามอีกครั้ง ภาพยนตร์สะท้อนความโหดร้ายของมนุษย์ที่พยายามทดลองและควบคุมพลังธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความไร้ปราณีของสงคราม แม้สิ่งเหล่านี้จะถูกพัฒนามาเพื่อความเจริญก้าวหน้า แต่พลังที่ไร้การควบคุมและขาดความรับผิดชอบของมนุษย์ได้นำพาความหายนะที่ไม่สามารถหวนคืนได้ เหมือนกับการปลดปล่อยพลังของ Godzilla ซึ่งเปรียบได้กับการทำลายล้างที่ไม่อาจควบคุมได้ของธรรมชาติที่กลับมาทวงคืน

.

หลังสงครามจบลง การสร้างย่านสำคัญอย่าง ‘กินซ่า’ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม ย่านนี้กลับมาเจริญรุ่งเรืองเป็นหัวใจของการค้าขายและแหล่งช้อปปิ้งอีกครั้ง และยังสะท้อนความหวังและพลังแห่งการฟื้นฟูท่ามกลางเถ้าถ่านจากสงคราม ความสวยงามของอาคารและแสงสีในย่านกินซ่า กลายเป็นเครื่องเตือนใจว่าญี่ปุ่นไม่เพียงแต่ต้องการฟื้นตัวจากเศษซากสงคราม หากแต่ต้องการก้าวข้ามความโหดร้ายของอดีต ดังนั้นแล้ว หาก Godzilla เป็นเสมือนพายุที่หมุนวนกลับมาทำลายล้างสิ่งที่มนุษย์พยายามสร้างขึ้นใหม่ การเผชิญหน้ากับ Godzilla ในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการตั้งคำถามถึงการฟื้นฟูบ้านเมืองที่ยั่งยืน

.

ในการเผชิญหน้ากับ Godzilla ตัวละครไม่เพียงแค่ต้องต่อกรกับสัตว์ร้ายที่มีพลังทำลายล้างอันมหาศาลเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้กับเงาของอดีตที่คอยหลอกหลอนจิตใจด้วย ร่องรอยภาวะ PTSD ที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของอดีตทหารผ่านศึก ผุดขึ้นมาราวกับปีศาจที่ไม่ยอมให้พวกเขาลืมเลือนบาดแผลในสงคราม เมื่อพวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับ Godzilla จริง ๆ แล้ว สิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญหน้าอยู่ก็คือความกลัวและบาดแผลในใจที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา การต่อสู้ครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด แต่เป็นการทวงคืนความกล้าหาญให้ตัวเอง การยอมรับอดีตอย่างเต็มใจเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ปราศจากเงามืดของความทรงจำอันเจ็บปวด และทำให้เราหวนคิดถึงความหมายที่แท้จริงของการฟื้นฟูว่าไม่ใช่เพียงการสร้างอาคารหรือถนนใหม่ แต่เป็นการฟื้นฟูจิตวิญญาณและจิตใจของผู้คนให้กลับมามีความหวัง มั่นคง และไม่หวาดกลัวอดีต

.

ช่วงสุดท้ายของภาพยนตร์เป็นฉากที่สะท้อนการรวมพลังกันของทหารราชนาวีผ่านศึกในการต่อสู้กับ Godzilla ฉากนี้ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด แต่ยังเปรียบเสมือนการเผชิญหน้ากับอดีตและการรวมใจที่แท้จริงของชาวญี่ปุ่นหลังผ่านความเจ็บปวดจากสงครามโลกครั้งที่สอง อดีตทหารผ่านศึกในเรื่องนี้เป็นตัวแทนของผู้ที่เคยอยู่ในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ทั้งยังต้องแบกรับความรู้สึกผิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสงคราม การที่พวกเขาตัดสินใจกลับมาสู้กับ Godzilla เป็นการบอกเล่าถึงการเผชิญหน้ากับบาดแผลที่ยังคงหลอกหลอน แต่ในครั้งนี้ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อความภาคภูมิใจของชาติ หากเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องชีวิตผู้คนและบ้านเมืองที่พวกเขารัก การรวมใจของอดีตทหารเหล่านี้สะท้อนถึงพลังแห่งความหวังและความสามัคคีที่กลับคืนมาอีกครั้ง เป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังของการยืนหยัดร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก ไม่ว่าอดีตของพวกเขาจะเป็นเช่นไร พวกเขาเลือกที่จะก้าวข้ามความเจ็บปวดและรอยแผลในใจเพื่อเผชิญหน้ากับอสูรร้ายที่เปรียบเสมือนเงามืดของสงคราม เป็นบทสรุปของการฟื้นฟูจิตวิญญาณอย่างแท้จริง การร่วมมือร่วมใจของผู้คนในฉากนี้คือการยอมรับความบอบช้ำในอดีต ไม่ใช่เพื่อจะลืม แต่เพื่อที่จะอยู่กับมันอย่างเข้มแข็ง เป็นการยืนยันว่าความทรงจำของสงครามจะยังคงอยู่ในจิตใจพวกเขา แต่ความทรงจำเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนเป็นพลังแห่งความกล้าหาญและความเสียสละที่จะสร้างอนาคตใหม่

.

ท้ายที่สุด ‘Godzilla Minus One’ เตือนให้เราระลึกถึงพลังของอดีตที่ฝังลึกในจิตใจ แม้บาดแผลของสงครามอาจจะไม่มีวันลบเลือน แต่ความกล้าหาญและความสามัคคีกันของผู้คนสามารถสร้างอนาคตใหม่ได้เสมอ ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้ที่จะยืนหยัด ไม่ใช่เพื่อหนีจากอดีต แต่เพื่อยอมรับและใช้มันเป็นแรงผลักดันในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและพร้อมจะฟื้นคืนจากทุกความสูญเสีย

.

อ้างอิง

Angela W., Godzilla Minus One: A Haunting Exploration of Guilt, Shame, and Post-War Japan[ออนไลน์], 2 มิถุนายน 2567. แหล่งที่มา https://medium.com/.../godzilla-minus-one-a-haunting...

Jason Jones, และ Beatrice Trefalt, Godzilla Minus One offers an insight into the complexity of Japan’s war memories[ออนไลน์], 1 กุมภาพันธ์ 2567. แหล่งที่มา https://theconversation.com/godzilla-minus-one-offers-an...

Richard Gunde, Godzilla and Postwar Japan[ออนไลน์], แหล่งที่มา https://www.international.ucla.edu/israel/article/24850

Yoshiko Ikeda, "Godzilla and the Japanese after World War II: From a scapegoat of the Americans to a saviour of the Japanese," Acta Orientalia Vilnensia 12,1 (มกราคม 2554): 43-62

.

เนื้อหา : ลีนา

พิสูจน์อักษร : ศิริกัลยา และ กาย

ภาพ : อิงฟ้า หมวดทอง