Grading system ที่ต้อง Upgrade

Grading system ที่ต้อง Upgrade 

.

เคยรู้สึกไหมว่าถ้าไม่มีเกรด เราคงสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่านี้ และสามารถสนุกกับการไปเรียนได้มากขึ้น การมีเกรดทำให้เรารู้สึกกดดันและเครียด และไม่สามารถเลือกเรียนสิ่งที่สนใจได้เต็มที่ เพราะชีวิตทั้งชีวิตอุทิศให้เกรดเพียงอย่างเดียว เราล้วนถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่าเราจะต้องรักษาเกรดให้ดี การเรียนจึงกลายเป็นเพียงการเรียนเพื่อทำเกรดแทนที่จะเป็นการเรียนเพื่อพัฒนาตนเองหรือเพื่อหาความรู้จริง ๆ เกรดเปรียบเสมือนพระเจ้าที่กำหนดเส้นทางชีวิตของเรา ทำให้เรารู้สึกว่าความฝันจะถูกจำกัดหากไม่ได้เกรดที่ดี หลายครั้งข้าพเจ้าก็อดคิดไม่ได้ว่าการประเมินความสามารถแบบนี้เป็นการประเมินความสามารถของเด็กจริง ๆ หรือ มันสามารถช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ตามเป้าประสงค์ของการไปโรงเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะของนักเรียนได้จริงหรือไม่ และการประเมินแบบนี้มีความเท่าเทียมต่อเด็กทุกคนหรือเปล่า ในเมื่อเราอยากให้การศึกษามีความเป็นธรรม แต่เมื่อมองเข้าไปในรูปแบบการประเมินกลับพบว่าความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่

.

ทำไมระบบ Grading ในปัจจุบันถึงเป็นปัญหา 

.

บทความ "Beyond Standards-Based Grading: Why Equity Must Be Part of Grading Reform" ของ Harvard Graduate School Of Education แสดงให้เราเห็นว่าระบบการให้คะแนนแบบ A-F มีมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และถึงแม้ระบบการศึกษาจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ระบบการให้คะแนนแบบนี้กลับเปลี่ยนไปไม่มากนัก และยังคงเอื้อประโยชน์ต่อนักเรียนบางกลุ่มอยู่เหมือนเดิม

.

เราทุกคนล้วนตระหนักถึงความสำคัญของเกรดที่จะส่งผลในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนต่อ หรือการเข้าทำงาน ดังนั้น เกรดจึงเป็นส่วนสำคัญมากในการกำหนดอนาคตของเด็ก เมื่อรับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำและการประเมินผลที่ล้าหลังนี้แล้ว การกล่าวว่าการเร่งแก้ไขระบบการให้คะแนนแบบ A-F ว่าเป็นสิ่งจำเป็นนั้นคงไม่เกินจริงไปนัก 

.

ระบบการให้คะแนนแบบ A-F มักจะบิดเบือน (misrepresent) ความสามารถของเด็กเนื่องจาก 

1. การให้เกรดของอาจารย์หรือคุณครูแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการประเมินความสามารถของนักเรียน 

.

2. การรวมรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาการเข้าไปในการให้คะแนนด้วย เช่น การขาดลามาสาย พฤติกรรมการจดโน้ตไม่จดโน้ต ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนทำให้ผลการประเมินการเรียนรู้คลาดเคลื่อนและสร้างอคติหลายอย่าง เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน บางคนอาจต้องการที่จะฟังอย่างเดียวเพื่อทำความเข้าใจ ในขณะที่บางคนอาจจำเป็นต้องจดโน้ตไปด้วย ดังนั้นการประเมินความใส่ใจด้วยการประเมินว่าเด็กจดหรือไม่จดโน้ตนั้น  อาจทำให้เด็กที่ต้องฟังเพื่อที่จะทำความเข้าใจบทเรียนเสียเปรียบ เพราะมัวแต่เสียเวลาจดเพื่อหวังว่าจะได้ดูตั้งใจเรียนในสายตาของคุณครูหรืออาจารย์ 

.

3. การใช้ระบบเกรดแบบตัวอักษรเป็นการนำความสามารถทั้งหมดของเด็กมาสรุปเป็นตัวอักษรเดียว นั่นอาจจะแสดงความสามารถที่แท้จริงของเด็กได้ไม่เต็มที่ รวมถึงการให้คะแนนด้วยระบบนี้จะส่งเสริมความไม่เท่าเทียมระหว่างนักเรียนตามรายได้และพื้นฐานการศึกษา เช่น ครอบครัวที่มีรายได้สูงและมีเวลาดูแลลูกก็ย่อมสามารถช่วยเหลือลูกในด้านการศึกษาได้มากกว่าครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ ทำให้สามารถสอนการบ้านลูกเอง หรือจ้างครูสอนพิเศษเพื่อมาสอนการบ้านได้ 

.

4. เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานในแต่ละวิชาไม่เท่ากัน เช่น เด็กที่เป็นลูกครึ่ง มีพ่อหรือแม่เป็นผู้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก และได้รับการปลูกฝังทั้งสองภาษาตั้งแต่เล็ก ๆ ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำคะแนนวิชาภาษาอังกฤษได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้เลย นั่นหมายความว่า การใช้ระบบเกรดแบบตัวอักษรไม่ได้สะท้อนพัฒนาการจริง ๆ ของเด็ก เนื่องจากเด็กที่มีพื้นฐานอยู่แล้วตั้งแต่ต้นก็ย่อมได้เกรดที่ดี ในขณะที่เด็กที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนแต่พยายามและพัฒนาขึ้นอย่างมากกลับไม่สามารถที่จะได้เกรด A เพราะในช่วงแรกของการเรียนทำได้ไม่ดีเท่ากับคนที่มีพื้นฐานมาก่อน เนื่องจากในปัจจุบันการให้คะแนนยังคงใช้การรวมคะแนนจากหลายส่วน เช่น คะแนนการบ้านและการสอบในห้องเรียน ส่งผลให้คะแนนที่ออกมานับมาจากการประเมินในหลาย ๆ ครั้งรวมกัน

.

5. จุดประสงค์ของ ‘การบ้าน’ นับว่าเป็นอีกปัญหาหนึ่ง กล่าวคือ แทนที่การบ้านจะช่วยให้เด็กได้ฝึกฝนและพัฒนาเตรียมพร้อมสำหรับการสอบจริง แต่การบ้านกลับถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการให้คะแนน หมายความว่า เราพยายามบอกให้เด็กทำผิดพลาดเพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันความผิดพลาดนั้นก็จะถูกนำไปคิดเป็นคะแนน ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่สามารถพลาดได้ เพราะถ้าหากพลาดก็จะมีผลกระทบต่อคะแนน 

.

นอกเหนือจากนี้ จากประสบการณ์ส่วนตัวของข้าพเจ้า หากต้องเลือกทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างงานแรกซึ่งง่ายกว่าและมั่นใจว่าสามารถทำได้ดีกว่าเพราะมีความถนัดอยู่แล้ว กับงานที่สองซึ่งน่าสนใจกว่า ท้าทายกว่า และน่าจะได้พัฒนาทักษะมากกว่า เนื่องจากจำเป็นต้องคำนึงถึงเกรด ข้าพเจ้าก็จำใจต้องเลือกงานแรกเพราะมั่นใจว่าจะได้คะแนนที่สูง สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าระบบการให้คะแนนแบบ A-F ฉุดรั้งเด็กไม่ให้พัฒนาตามความต้องการและไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ 

.

จากปัญหาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นจะต้องพิจารณาปรับปรุง (reevaluate) วิธีการให้คะแนนในระบบการศึกษา เพื่อให้ได้มาตรฐานการประเมินผลที่เท่าเทียม และสอดคล้องกับจุดประสงค์ของการประเมินเกรดจริง ๆ นั่นคือการได้รู้ว่านักเรียนได้เรียนรู้ไปมากแค่ไหน 

.

หนทางอื่น ๆ สำหรับการประเมินความสามารถของนักเรียน

.

ในบทความ Grading for Equity จาก Harvard Graduate School Of Education กล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาการให้คะแนนแบบ A-F ผ่านการสัมภาษณ์โจ เฟลด์แมน (Joe Feldman) ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Grading for Equity" ด้วย  เฟลด์แมนมีประสบการณ์อย่างมากในฐานะคุณครู ผู้อำนวยการ และผู้บริหารเขตการศึกษา ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความเท่าเทียมทางการศึกษา เขาเสนอวิธีการต่าง ๆ  เช่น ไม่เฉลี่ยคะแนนออกมาเป็นผลลัพธ์ แยกพฤติกรรมออกจากผลการเรียน และปรับบทบาทของการบ้าน เพื่อให้คะแนนสะท้อนความเข้าใจของนักเรียนต่อเนื้อหาที่เรียนจริง ๆ ซึ่งจะลดทอนอคติ และส่งเสริมการเรียนรู้ที่มาจากแรงจูงใจมากขึ้น 

.

เฟลด์แมนเสนอหลักการใช้ equitable grading practice ในวิธีต่าง ๆ เช่น นักเรียนสามารถแก้ไขงานที่ส่งไปแล้ว หรือลองทำใหม่เพื่อที่จะได้รับการประเมินซึ่งจะสามารถส่งเสริมการเรียนรู้มากขึ้น และการแยกคำติชมกับเกรดออกจากกัน เป็นต้น ทำให้การประเมินความสามารถของเด็กแม่นยำมากขึ้น ลดอัตราการสอบตก และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนดีขึ้นด้วย โรงเรียนที่นำแนวทางเหล่านี้ไปใช้พบว่านักเรียนสอบตกน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนที่มีรายได้น้อยและนักเรียนผิวสี 

.

เขายังกล่าวอีกว่าการให้คะแนนแบบ equitable grading ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้นักเรียน แต่ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษาในการทำให้การศึกษานั้นเท่าเทียม การเชื่อมโยงการให้คะแนนเข้ากับความเท่าเทียมยังทำให้ครูหรืออาจารย์มีแรงจูงใจมากขึ้นในการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการให้คะแนน

.

นอกจากนี้ บทความ Rethink Grading จาก Harvard Graduate School of Education ยังเสนอความคิดเห็นจาก ซาราห์ เซอร์วิน (Sarah Zerwin) ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษไว้ว่าครูควรเน้นการส่งเสริมแนวคิดแบบเติบโต (growth mindset) แทนที่จะยึดติดกับการประเมินตามระบบคะแนน A-F เธอยังเน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมกับนักเรียนในการเรียนรู้และกระตุ้นให้นักเรียนตั้งเป้าหมายส่วนตัวเพื่อพัฒนาตนเอง การให้ความสำคัญกับการพัฒนามากกว่าความชำนาญส่งเสริมการตัดสินใจเองของนักเรียน และสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีต่อการเรียน 

.

การศึกษานั้นเป็นทางกว้างใหญ่  ควรทำให้เด็กเติบโตในหลายด้าน

แต่ grading แบบเก่าคอยระราน  วิธีการคือเปลี่ยนระบบคะแนน

ใช้ growth mindset ในการสอน  ไม่ลิดรอนและส่งเสริมการเรียนแทน

และใช้ equitable grading แผน  สร้างดินแดนการเรียนที่เท่าเทียม 

.

ดังนั้น ระบบ grading แบบปัจจุบันนั่นคือ A-F จึงทำให้เกิดความท้าทายอย่างมากต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งด้านการเรียนรู้และความเท่าเทียม และหนทางการแก้ปัญหาอย่างเช่นการใช้ equitable grading practices และการส่งเสริมแนวคิดแบบเติบโต (growth mindset) ก็อาจเป็นวิธีที่ทำให้ระบบการศึกษาเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

.

อ้างอิง

Henry Seton, Rethink Grading [ออนไลน์], 8 กรกฎาคม 2564. แหล่งที่มา 

https://www.gse.harvard.edu/.../usa.../21/07/rethink-grading 

Jill Anderson, Grading for Equity [ออนไลน์], 11 ธันวาคม 2562. แหล่งที่มา 

https://www.gse.harvard.edu/.../edcast/19/12/grading-equity 

Lory Hough, The Problem with Grading [ออนไลน์], 19 พฤษภาคม 2566. แหล่งที่มา https://www.gse.harvard.edu/.../ed.../23/05/problem-grading

.

เนื้อหา : สิริยากร พุ่มประดับ

พิสูจน์อักษร : เบญญาภา และ ชนิดาภา(w.wv)

ภาพ : อิงฟ้า หมวดทอง